เกี่ยวกับเรา
เกี่ยวกับสาขาวิชาโรคทางเดินอาหารและตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ปีที่ก่อตั้งพ.ศ. 2510
ประวัติความเป็นมาของสาขาวิชาโรคทางเดินอาหารและตับ

สาขาวิชาโรคทางเดินอาหารและตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์ เดิมมีชื่อว่า หน่วยโรคทางเดินอาหารและอายุรศาสตร์เขตร้อน เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่เริ่มเปิดโรงพยาบาลรามาธิบดี ในปี พ.ศ. 2510 โดยมีอาจารย์สมพนธ์ บุณยคุปต์ เป็นอาจารย์และหัวหน้าหน่วยคนแรก สาขาวิชาโรคทางเดินอาหาร ของภาควิชาอายุรศาสตร์รามาธิบดีในสมัยนั้นแตกต่างจาก สาขาวิชาโรคทางเดินอาหารของคณะแพทยศาสตร์อื่นๆ ตรงที่ได้รวมวิชาอายุรศาสตร์เขตร้อนไว้ด้วย เพราะอาจารย์สมพนธ์ บุณยคุปต์ ผู้ก่อตั้งหน่วย มีความเห็นว่า โรคทางเดินอาหารในประเทศไทยมีความเกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อที่พบในเขตร้อนเป็นอย่างมาก ผลงานวิจัยรวมทั้งตำราที่ท่านเขียนก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับพยาธิที่พบบ่อยในประเทศเขตร้อน ได้แก่ Angiostrongylus cantonensis ที่ทำให้เกิดโรค Eosinophilic meningoencephalitis และ Gnathostomiasis
ความสนใจในโรคเขตร้อนนี้ได้ถ่ายทอดต่อมาให้กับอาจารย์รุ่นถัดมา ได้แก่ อาจารย์สุชา คูระทอง ซึ่งท่านได้ศึกษาเรื่องพยาธิ Opisthorchis viverrini และความสัมพันธ์กับการเกิด Cholangiocarcinoma แต่เมื่อเวลาผ่านไป ผู้ป่วยที่มารับบริการที่โรงพยาบาลรามาธิบดีมีการเปลี่ยนไปมากจากเดิม ผู้ป่วยโรคเขตร้อนค่อยๆ ลดน้อยลง พร้อมๆ กับวิวัฒนาการด้านการรักษาผู้ป่วยโรคทางเดินอาหารและตับมีความก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว
โรงพยาบาลรามาธิบดีเริ่มมีโครงการปลูกถ่ายตับในปีพ.ศ. 2530 ด้วยความร่วมมือกันระหว่างภาควิชาอายุรศาสตร์และศัลยศาสตร์ เริ่มมีการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอดสาขาโรคระบบทางเดินอาหารในปี พ.ศ. 2538 ดังนั้นงานบริการและการเรียนการสอนของโรคทางเดินอาหารและตับจึงค่อยๆ เปลี่ยนไป
ในปี พ.ศ. 2539 หน่วยฯ ได้จัดตั้งโครงการตรวจรักษาผู้ป่วยโดยใช้กล้องส่องตรวจโรคระบบทางเดินอาหาร ที่ศูนย์การแพทย์สิริกิติ์ขึ้น โดยอาจารย์ประวิทย์ เลิศวีระศิริกุลซึ่งต่อมาเป็นหัวหน้าหน่วยฯ มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้โครงการนี้เกิดขึ้น ทำให้งานด้านการส่องกล้องทางเดินอาหารก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ และต่อเนื่องมาจนถึงช่วงที่อาจารย์ชุติมา ประมูลสินทรัพย์ เป็นหัวหน้าหน่วยฯ ได้สานต่อโครงการก่อให้เกิดการขยายงานด้านการส่องกล้องโดยเฉพาะหัตถการที่มีความซับซ้อน และเนื่องจากอาจารย์ชุติมาเป็นผู้ที่สนใจด้านโรคตับ จึงสนับสนุนให้มีการวิจัยเกี่ยวกับโรคตับอย่างมาก ทั้งผลงานจากตัวท่านเอง อาจารย์ในหน่วยฯ และแพทย์ประจำบ้านต่อยอด
ต่อมาในปี พ.ศ.2553 ขณะอาจารย์โฉมศรี โฆษิตชัยวัฒน์ เป็นหัวหน้าหน่วยฯ อาจารย์บุญมี สถาปัตยวงศ์ เป็นหัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ขอให้แต่ละคณะพิจารณาปรับเปลี่ยนโครงสร้างของหน่วยงานให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ของสังคม จึงได้มีการปรึกษากันกับอาจารย์ของหน่วยฯในขณะนั้น เห็นว่างานบริการและการเรียนการสอน การวิจัยของหน่วยฯ ตลอดเวลาที่ผ่านไปกว่า 10 ปี ภาระงานด้านโรคทางเดินอาหารและตับเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว การรักษามีความซับซ้อนและต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะมากขึ้น โรคเขตร้อนลดน้อยลงอย่างมาก อาจารย์ที่มีอยู่ นอกเหนือจากงานพื้นฐานที่ทุกคนต้องรับผิดชอบเหมือนกันแล้ว มีการแบ่งงานเพิ่มเติมตามความเชี่ยวชาญพิเศษ คืออาจารย์กลุ่มที่เชี่ยวชาญโรคตับ รับผิดชอบดูแลเกี่ยวกับการปลูกถ่ายตับ ได้แก่อาจารย์อาภัสณี โสภณสฤษฏ์สุข และ อาจารย์พงษ์ภพ อินทรประสงค์ อาจารย์กลุ่มที่เชี่ยวชาญด้านโรคทางเดินอาหารและหัตถการส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร รับผิดชอบหัตถการส่องกล้องที่มีความซับซ้อนสูง ได้แก่ อาจารย์โฉมศรี โฆษิตชัยวัฒน์ อาจารย์นรินทร์ อจละนันท์ อาจารย์มล.ทยา กิติยากร อาจารย์ภัทรพงศ์ กมลาภรณ์ และอาจารย์อัครวิทย์ พูลสมบัติ
ประกอบกับเวลานั้นสาขาวิชาโรคติดเชื้อได้แสดงความจำนงที่จะรับผิดชอบงานด้านโรคเขตร้อนให้แทน เนื่องจากมีปฏิสัมพันธ์ทางวิชาการกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดลอยู่แล้วอย่างแนบแน่นโดยเฉพาะด้านโรคติดเชื้อที่เป็นโรคเขตร้อน ทางหน่วยฯ จึงเห็นพ้องว่าควรยกงานด้านโรคเขตร้อนไปให้กับสาขาวิชาโรคติดเชื้อรับผิดชอบ และได้เสนอเปลี่ยนชื่อหน่วย จากหน่วยโรคทางเดินอาหารและอายุรศาสตร์เขตร้อน เป็นหน่วยโรคทางเดินอาหารและตับ โดยความเห็นชอบจากหัวหน้าภาควิชา และเปลี่ยนเป็นสาขาวิชาโรคทางเดินอาหารและตับในปัจจุบัน
การปรับเปลี่ยนที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การจัดตั้งศูนย์ส่องกล้องระบบทางเดินอาหารและห้องปฏิบัติการประสาททางเดินอาหารและการเคลื่อนไหว (GI Endoscopy Center and Neurogastroenterology and Motility Laboratory) ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะให้เป็นหน่วยงานอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2555 โครงการดังกล่าวนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างภาควิชาอายุรศาสตร์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ และภาควิชากุมารเวชศาสตร์ เพื่อให้งานส่องกล้องระบบทางเดินอาหารและห้องปฏิบัติการประสาททางเดินอาหารและการเคลื่อนไหวสามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นเลิศ ทั้งด้านบริการ การเรียนการสอน และการวิจัย โดยให้การบริหารทรัพยากรเป็นไปอย่างคุ้มค่าและเหมาะสม
การจัดตั้งหน่วยงานนี้ใช้เวลาดำเนินการเป็นเวลาหลายปี เริ่มตั้งแต่การสร้างศูนย์ส่องกล้อง ที่ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ การเตรียมครุภัณฑ์ และบุคลากร ซึ่งกระบวนการดำเนินการดังกล่าวอาศัยรากฐานของความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสาขาวิชาโรคทางเดินอาหารและตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์ กับ สาขาวิชาศัลยศาสตร์ทั่วไป และศัลยศาสตร์โรคตับ ตับอ่อนและทางเดินน้ำดี ภาควิชาศัลยศาสตร์ ที่มีมาแต่ครั้งเมื่ออาจารย์สมพนธ์ บุณยคุปต์เป็นหัวหน้าหน่วย เพราะมีการประชุมร่วมกันทางด้านวิชาการเป็นประจำแทบทุกสัปดาห์ และความสัมพันธ์ที่ดีนี้ได้สืบทอดมาอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบัน ทำให้เป็นจุดเด่นอีกประการหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
การก่อตั้งหน่วยส่องกล้องระบบทางเดินอาหารและห้องปฏิบัติการประสาททางเดินอาหารและการเคลื่อนไหว ยังส่งผลให้มีการขยายงานด้านประสาททางเดินอาหารและการเคลื่อนไหว (Neurogastroenterology and Motility) ซึ่งปัจจุบันมีอาจารย์ศุภมาส เชิญอักษร เข้ามาร่วมงานด้านนี้
ด้านการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอดสาขาโรคระบบทางเดินอาหารที่เริ่มตั้งแต่ปีพ.ศ.2538 มีอาจารย์ อาภัสณี โสภณสฤษฏ์สุข เป็นแพทย์ที่เข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรนี้เป็นท่านแรก ปัจจุบันมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่จบหลักสูตรการฝึกอบรมดังกล่าวแล้วจำนวน 40 คน กำลังศึกษาอยู่ 6 คน

หัวหน้าสาขาวิชาจากอดีตถึงปัจจุบัน
- พ.ศ. 2510-2518 อาจารย์นายแพทย์สมพนธ์ บุณยคุปต์
- พ.ศ. 2518-2521 ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์เกรียงไกร อัครวงศ์
- พ.ศ. 2521-2541 ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์สุชา คูระทอง
- พ.ศ. 2541-2544 ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์ประวิทย์ เลิศวีระศิริกุล
- พ.ศ. 2544-2551 ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงชุติมา ประมูลสินทรัพย์
- พ.ศ. 2551-2557 รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงโฉมศรี โฆษิตชัยวัฒน์
- พ.ศ. 2557-2561 ผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์หม่อมหลวง ทยา กิติยากร
- พ.ศ.2561 ถึงปัจจุบัน อาจารย์นายแพทย์นรินทร์ อจละนันท์
ขอบเขตการดำเนินงานของสาขาวิชา
1. ด้านการศึกษา
รับผิดชอบด้านการเรียนการสอนโรคระบบทางเดินอาหารและตับ ทั้งระดับปริญญาและหลังปริญญา ดังนี้
- นักศึกษาแพทย์ตั้งแต่ชั้นปีที่ 2 ที่เรียนอยู่ที่คณะวิทยาศาสตร์ จนถึงชั้นปีที่ 6 ทุกชั้นปี โดยการบรรยายในชั้นเรียน สอนกลุ่มย่อย และสอนข้างเตียง ครอบคลุมทั้งการซักประวัติ การตรวจร่างกาย การวินิจฉัย การรักษาและการป้องกัน
- แพทย์ประจำบ้านสาขาอายุรศาสตร์ทั่วไป ตามมาตรฐานของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์และแพทยสภา
- แพทย์ประจำบ้านต่อยอดสาขาโรคระบบทางเดินอาหาร ตามเกณฑ์มาตรฐานของสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย และแพทยสภา โดยเน้นที่การดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมและการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-based) เป็นหลักสำคัญ ในกระบวนการเรียนการสอน
2. ด้านบริการ
ให้บริการทางการแพทย์และบริการด้านวิชาการดังนี้
2.1 ด้านบริการทางการแพทย์
- ให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคระบบทางเดินอาหารและตับ โดยเน้นการบริการในระดับตติยภูมิ
- ให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยด้วยการส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหารที่มุ่งให้ผลลัพธ์ เทียบเคียงได้กับมาตรฐานโลก
- พัฒนาขีดความสามารถและคุณภาพการบริการระดับตติยภูมิชั้นสูง (Quaternary Care) เช่น การปลูกถ่ายตับ การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหารด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Endoscopic Ultrasound) การส่องตรวจเนื้อเยื่อหรือเซลล์ที่ผิดปกติ (Endomicroscopy) ในทางเดินอาหารและทางเดินน้ำดี การตรวจวัดแรงดันในทางเดินอาหาร (Manometry Study) การตรวจวัดความต้านทานและความเป็นกรด-ด่างของทางเดินอาหารส่วนต้น (Impedance and pH Monitoring) เป็นต้น
2.2 ด้านบริการวิชาการ
- จัดประชุมวิชาการ “Ramathibodi GI and Liver Annual Review” เป็นประจำทุกปี โดยเริ่มจัดครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ. 2551
- จัดให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับโรคตับเป็นระยะ
- เป็นแหล่งฝึกหัตถการส่องกล้องทางเดินอาหารสำหรับหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านต่อยอดสาขากุมารเวชศาสตร์โรคทางเดินอาหาร
- เป็นที่ดูงานและฝึกอบรมให้กับนักศึกษาแพทย์และแพทย์ จากภายนอก ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
- อาจารย์เป็นวิทยากรรับเชิญในการประชุมวิชาการของโรงพยาบาลต่างๆ ในประเทศ การประชุมทางวิชาการต่างๆ ในประเทศ และต่างประเทศ
- อาจารย์เป็นคณะทำงานในการพัฒนาแนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคระบบทางเดินอาหารและตับทั้งในระดับประเทศ และภาคพื้นเอเชีย
3. ด้านการวิจัย
สาขาวิชามีการดำเนินการวิจัยหลักๆ ที่มีอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ดังนี้
- โครงการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากแหล่งทุนที่ไม่ใช่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมยา เช่น ทุนจากสมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย ทุนวิจัยคณะ เป็นต้น
- โครงการวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากภาคเอกชน
- โครงการวิจัยที่ใช้เงินกองทุนภายในสาขาวิชา
- โครงการวิจัยของแพทย์ประจำบ้านสาขาอายุรศาสตร์ทั่วไป และแพทย์ประจำบ้านต่อยอดสาขาอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินอาหาร โดยมีอาจารย์ในสาขาวิชาเป็นที่ปรึกษา
โดยโครงการวิจัยที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เกี่ยวข้องกับองค์ความรู้ทางด้าน:
- โรคตับ ได้แก่ โรคตับอักเสบเรื้อรังจากไวรัส โรคไขมันสะสมตับ โรคตับแข็ง โรคมะเร็งตับ และการตรวจหาความแข็งของตับโดยใช้เครื่อง Fibroscan ในผู้ป่วยโรคตับประเภทต่างๆ การปลูกถ่ายตับ เป็นต้น
- โรคทางเดินอาหาร ได้แก่ Dyspepsia, การใช้ยาลดกรดประเภท Proton pump inhibitors เทคโนโลยีใหม่ด้านการส่องกล้องตรวจในทางเดินอาหาร เป็นต้น
- โรคทางเดินน้ำดี ได้แก่ การวินิจฉัยนิ่วท่อน้ำดีด้วยเครื่อง Endoscopic Ultrasound เป็นต้น