สาขาวิชาโรคทางเดินอาหารและตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
02-2011387

พันธกิจของหลักสูตร

สาขาวิชาโรคทางเดินอาหารและตับ เป็นสาขาที่สำคัญของภาควิชาอายุรศาตร์ เนื่องจากเป็นสาขาที่เกี่ยวข้องกับโรคหรือภาวะผิดปกติที่พบได้บ่อยในเวชปฏิบัติและจำเป็นต้องมีอายุรแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะด้านในการให้การวินิจฉัย การสืบค้นเพิ่มเติม โดยเฉพาะการทำหัตถการจำเพาะเพื่อการวินิจฉัยและรักษาโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น การส่องกล้องทางเดินอาหาร การตรวจการทำงานของระบบทางเดินอาหาร รวมไปถึงการดูแลรักษาแบบองค์รวม การพยากรณ์โรค และการป้องกันโรค
นอกจากนั้นอายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารและตับ ยังต้องมีความสามารถด้านอื่นๆ ที่สาคัญ ได้แก่ ความสามารถในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ความสามารถด้านการวิจัยเพื่อส่งเสริมและแก้ปัญหาระบบสาธารณสุขของประเทศ สามารถปรับตัวเข้ากับความหลากหลายทางวัฒนธรรม และมีความสามารถในการบริหารจัดการผู้ป่วยโรคระบบทางเดินอาหารได้อย่างเหมาะสมตามศักยภาพของสถานบริการสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานอยู่ รวมทั้งมีทักษะการ สื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับบุคลากรทางการแพทย์อื่น ๆ ตลอดจนมีความรับผิดชอบ จริยธรรม ทัศนคติและเจตคติที่ดีต่อผู้ป่วย ผู้ร่วมงาน และองค์กร เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทย ซึ่งรวมทั้งการรักษาด้วยยาและไม่ใช้ยา อีกทั้งแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารจำเป็นต้องทำงานเกี่ยวข้องกับแพทย์ในสาขาวิชาอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น
ศัลยแพทย์ สูตินรีแพทย์ รังสีแพทย์ และ พยาธิแพทย์ เป็นต้น
โดยสาขาวิชาโรคทางเดินอาหารและตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กำหนดพันธกิจของการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านอนุสาขาโรคระบบทางเดินอาหาร ดังนี้

  1. ฝึกอบรมอายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารให้มีเจตคติ จริยธรรมแห่งวิชาชีพ เป็นผู้ทำงานร่วมกันเป็นทีมกับสหวิชาชีพ มีความรับผิดชอบและเอื้ออาทรต่อผู้ป่วย โดยยึดถือผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง และมีจิตสาธารณะ
  2. ฝึกอบรมให้มีความรู้ และทักษะทางด้านโรคระบบทางเดินอาหาร ตามเกณฑ์มาตรฐานของสมาคมแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารแห่งประเทศไทย รวมทั้งมีความสามารถในการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม ด้วยความเหมาะสม มีประสิทธิภาพ คุณภาพ รวมทั้งส่งเสริมสุขภาพและสอดคล้องกับความต้องการของระบบสุขภาพของประเทศ
  3. ฝึกอบรมอายุรแพทย์โรคระบบทางเดินอาหารให้มีความเป็นครู สามารถถ่ายทอดความรู้แก่ นักศึกษาแพทย์/แพทย์ประจำบ้าน หรือ ผู้ร่วมงาน ได้เป็นอย่างดี
  4. ส่งเสริมการพัฒนาตนเองและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและสามารถทำการวิจัยทางการแพทย์ได้
  5. ส่งเสริมสมรรถนะการดูแลปัญหาสุขภาพในด้านเวชศาสตร์เขตเมือง ในโรคระบบทางเดินอาหารและตับที่พบบ่อย เช่น ตับคั่งไขมัน โรคกรดไหลย้อน โรคกระเพาะอาหาร ลำไส้แปรปรวน และท้องผูกเรื้อรัง
  6. ส่งเสริมการเรียนรู้การบริหาร ธรรมาภิบาล ระบบคุณภาพ ระบบความปลอดภัย เพื่อสามารถปฏิบัติงานแบบสหวิชาชีพหรือเป็นทีมได้ภายใต้บริบททางสังคมและเศรษฐกิจที่หลากหลาย